ผลสืบเนื่อง ของ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562

หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนของสหราชอาณาจักรรายงานว่า คนไทยอาจต้องการเสถียรภาพทางการเมืองและสังคมมากกว่าสนใจปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และการเมืองไทยน่าจะแบ่งขั้วรุนแรงยิ่งกว่าเก่า ด้านแชแนลนิวส์เอเชียและหนังสือพิมพ์เดอะสเตรตส์ไทมส์ของสิงคโปร์ระบุว่าแม้พรรคพลังประชารัฐได้จัดตั้งรัฐบาล แต่ก็จะเป็นรัฐบาลที่ขาดเสถียรภาพและไม่สามารถผ่านกฎหมายได้[116] สื่อวิเคราะห์สาเหตุที่พรรคพลังประชารัฐได้รับความนิยมไปต่าง ๆ นานา สำนักข่าวรอยเตอส์รายงานว่า น่าจะมีอิทธิพลของสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องด้วยไม่มากก็น้อย ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รายงานว่า ทักษิณ ชินวัตรใช้ความเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์มากเกินไปทำให้เกิดปฏิกิริยารุนแรง[116] คาร์โล โบนูรา อาจารย์จากวิทยาลัยบูรพคดีศึกษาและการศึกษาแอฟริกา ระบุว่า "ฝ่ายผู้นำทหารสามารถดึงตัวนักการเมืองที่มีประสบการณ์มาร่วมพรรคที่สนับสนุนทหารได้ และการเลือกตั้งในไทยมีการยึดต่อตัวบุคคลสูงมาก"[117] นอกจากนี้ พรรคอนาคตใหม่ที่ได้คะแนนมากเป็นอันดับสามจะทำให้เกิดช่องว่างระหว่างวัยในการเมืองไทย[116] ทีมข่าวการเมือง หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ มองว่าในสภาวะที่ "ฝ่ายพรรคการเมือง" และ "ฝ่ายรัฐประหาร" ไม่สามารถตั้งรัฐบาลใหม่ได้ รัฐบาลประยุทธ์จะได้เป็นรัฐบาลต่อไปเรื่อย ๆ ซึ่งในสภาวะทางตันเช่นนี้ อาจต้องอาศัยประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข[118] เควิน เฮวีสัน ศาสตราจารย์กิตติคุณจากมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา ระบุว่า กกต. อาจตัดสิทธิผู้ชนะการเลือกตั้งบางคนจนถึงขั้นยุบพรรคการเมืองบางพรรค ซึ่งอาจทำให้เกิดการประท้วงตามท้องถนนอีก หรือในกรณีที่เลวร้ายที่สุด อาจมีรัฐประหารอีกครั้ง[119] เดวิด สเตร็คฟัส นักวิชาการชาวอเมริกัน ระบุว่า ประเทศไทยได้รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และการเลือกตั้งที่เป็นผลดีต่อทหาร[120] ด้าน รศ. ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ กล่าวว่า "นี่ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่แท้จริง มันคือการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยภายใต้การดูแลทหาร"[120] นักวิเคราะห์ยังมองว่า ประเด็นเรื่องทักษิณ ชินวัตรจะมีความสำคัญน้อยลงในการเมืองไทย แต่จะเปลี่ยนไปเป็นความขัดแย้งระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการมากขึ้น[119]

การเปลี่ยนแปลงหัวหน้าพรรค

คืนวันเลือกตั้ง หลังนับคะแนนไปได้ประมาณร้อยละ 90 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคหลังพรรคมีโอกาสสูงที่จะได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรน้อยกว่า 100 ที่นั่งตามการให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ ทำให้พรรคประชาธิปัตย์อาจมีโอกาสไปตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ[121] วันที่ 15 พฤษภาคม จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่[122]

การจัดตั้งรัฐบาล

แถลงการณ์ลงนามหยุดการสืบทอดอำนาจของ คสช. ที่พรรคเพื่อไทยและพันธมิตรลงนามเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2562

วันที่ 25 มีนาคม 2562 พรรคเพื่อไทยเชื่อมั่นว่าตนได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตมากที่สุด จึงขอตั้งรัฐบาล[123] ด้านพรรคพลังประชารัฐซึ่งแถลงว่าพรรคได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนมากที่สุดระบุว่าพร้อมจัดตั้งรัฐบาลเช่นกัน[124] พรรคอนาคตใหม่แถลงไม่เสนอชื่อธนาธรเป็นนายกรัฐมนตรี แต่จะให้พรรคที่ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอันดับหนึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมเสนอเงื่อนไขร่วมรัฐบาล คือ ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและให้พลเรือนควบคุมกองทัพ[125] สำหรับพรรคภูมิใจไทยกำหนดเงื่อนไขร่วมรัฐบาลว่าต้องมีนโยบายกัญชาเสรี[126] ธนาธรกล่าวว่าพร้อมสนับสนุนคุณหญิงสุดารัตน์เป็นนายกรัฐมนตรีแม้ไม่ได้เป็น ส.ส. เนื่องจากนายกรัฐมนตรีควรมาจากพรรคการเมืองที่ได้ที่นั่งมากที่สุดในสภาผู้แทนราษฎร และสิ่งสำคัญอันดับแรกคือการยุติการสืบทอดอำนาจ[127] มีข่าวลือว่าพรรคภูมิใจไทยเจรจากับพรรคพลังประชารัฐเพื่อจัดตั้งรัฐบาล โดยขอตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม นอกจากนี้ พรรคพลังประชารัฐยังเตรียมเจรจาตำแหน่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้พรรคประชาธิปัตย์อีกด้วย[128] วันที่ 27 มีนาคม 2562 พรรคเพื่อไทยนำพรรคพันธมิตรทางการเมืองรวม 6 พรรค ได้แก่ พรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคเพื่อชาติและพรรคพลังปวงชนไทยประกาศตั้งรัฐบาล โดยมีผู้แทนจากพรรคการเมืองดังกล่าวยกเว้นพรรคเศรษฐกิจใหม่เข้าร่วมลงนามสัตยาบันคัดค้านการสืบทอดอำนาจ คสช. ด้านมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่ ชี้แจงว่าแม้ตนไม่ได้เข้าร่วม แต่ส่งสารมาสนับสนุน[129]

ช่วงเดือนเมษายน 2562 มีผู้เสนอให้ตั้งรัฐบาลแห่งชาติ และให้มีนายกรัฐมนตรีนอกเหนือจากบัญชีรายชื่อบุคคลที่พรรคการเมืองต่าง ๆ เสนอเพื่อแก้ไขปัญหาการเมืองไม่มีทางออก ซึ่งรัฐธรรมนูญก็เปิดช่องไว้[130] วันที่ 25 เมษายน 2562 หนังสือพิมพ์ ประชาชาติธุรกิจ ลงข่าวว่า พรรคพลังประชารัฐสามารถรวบรวมเสียง ส.ส. ได้ถึง 270 ที่นั่ง ประกอบด้วยพรรคภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา รวมพลังประชาชาติไทย เศรษฐกิจใหม่ พลังท้องถิ่นไท และ ส.ส. พรรคอื่นที่จะขัดมติพรรคอีก 40 คน[131]

ช่วงเดือนพฤษภาคม 2562 หลัง กกต. ประกาศรายชื่อ ส.ส. มีข่าวว่าพรรคพลังประชารัฐรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาล แต่พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์และพรรคชาติไทยพัฒนาไม่พอใจกับโควตารัฐมนตรีที่ได้รับ และว่าพรรคพลังประชารัฐยึดกระทรวงเศรษฐกิจไว้เองทั้งหมด นอกจากนี้ยังอึดอัดใจที่จะสนับสนุนพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรี และการมีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และบุคคลจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติร่วมรัฐบาล[132] ด้านธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ให้สัมภาษณ์ว่ากำลังรวบรวมเสียงจากพรรคการเมืองต่าง ๆ ซึ่งมี ส.ส. รวม 378 ที่นั่ง แต่ไม่ตอบว่าจะสนับสนุนอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะจากพรรคประชาธิปัตย์ หรืออนุทิน ชาญวีรกุลจากพรรคภูมิใจไทย เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่[133]

วันที่ 27 พฤษภาคม 2562 พรรคภูมิใจไทยประกาศจะตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ โดยมีกระแสข่าวว่าพรรคจะได้รับจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา[134] อย่างไรก็ดี หลังมีข่าวว่าพรรคประชาธิปัตย์อาจไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐด้วย พรรคภูมิใจไทยก็ว่าตนก็อาจไม่เข้าร่วมเช่นกัน[135] ต้นเดือนมิถุนายน 2562 มีข่าวว่าพรรคประชาธิปัตย์เจรจาได้ที่นั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์[136] และมีมติร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ[137]

วันที่ 5 มิถุนายน 2562 สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาลงมติเลือกพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย โดยได้รับคะแนนเสียงจาก ส.ส. ทั้งหมด 19 พรรค นับเป็นรัฐบาลผสมที่มีพรรคการเมืองจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ตาม จนถึงเดือนกรกฎาคมยังไม่สามารถตั้งรัฐบาล โดยมีข่าวนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลชิงตำแหน่งรัฐมนตรีกันอยู่เนือง ๆ[138] มีข่าวว่าพรรคพลังประชารัฐจะยึดกระทรวงที่เคยตกลงไว้กับพรรคภูมิใจไทยและประชาธิปัตย์[139] สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์บางส่วนประกาศลาออกจากพรรคหลังพรรคเข้าร่วมรัฐบาลและสนับสนุนประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี[140][141][142] ส่วนอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศลาออกจากตำแหน่ง ส.ส.[143]

วันที่ 10 กรกฎาคม 2562 มีประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ซึ่งบีบีซีไทยระบุว่ามาจากพรรคพลังประชารัฐ 18 คน (โควตาประยุทธ์ 7 คน โควตาพรรค 3 คน โควตา กปปส. 2 คน โควตากลุ่มสามมิตร 2 คน โควตามุ้ง 4 คน) พรรคประชาธิปัตย์ 7 คน ภูมิใจไทย 7 คน ชาติไทยพัฒนา 2 คน รวมพลังประชาชาติไทย 1 คน และชาติพัฒนา 1 คน[144]

คดีความและการพิจารณาเพิกถอนสิทธิผู้สมัครรับเลือกตั้ง

ช่วงต้นเดือนเมษายน 2562 ทางการไทยแจ้งข้อหาต่อธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ รศ. ปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำพรรคอนาคตใหม่ ในคดียุยงปลุกปั่นเกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116[145] วันที่ 18 เมษายน 2562 ผู้สมัครรับเลือกตั้งจากพรรคเศรษฐกิจใหม่ยื่น กกต. ขอให้ยุบพรรคตนเองเพราะชื่อว่ามีคนนอกครอบงำพรรค รวมทั้งขอให้ กกต. ไม่ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง[146] วันที่ 26 เมษายน 2562 ผู้ชนะการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตพรรคพลังประชารัฐคนหนึ่งถูกยื่นสอบคุณสมบัติผู้สมัครเพราะถือหุ้นสื่อ[147]

ใกล้เคียง

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2554 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2549 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2550 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2557 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2544 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2548 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2539

แหล่งที่มา

WikiPedia: การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/830478 http://www.bbc.com/news/business-30218621 http://www.bbc.com/thai/thailand-43221557 http://www.ft.com/intl/cms/s/0/a01892a6-fe33-11e4-... http://www.khaosodenglish.com/politics/2018/11/30/... http://www.khaosodenglish.com/politics/2019/02/18/... http://www.khaosodenglish.com/politics/2019/02/27/... http://www.khaosodenglish.com/politics/2019/03/26/... http://www.khaosodenglish.com/politics/2019/03/28/... http://www.khaosodenglish.com/politics/2019/04/02/...